เช็กลิสต์! คุณอยู่ระดับไหนของ ‘ออฟฟิศซินโดรม’
บทความสุขภาพ
เช็กลิสต์! คุณอยู่ระดับไหนของ ‘ออฟฟิศซินโดรม’
ออฟฟิศซินโดรม เป็นอาการที่ใคร ๆ ก็สามารถพบเจอได้ ไม่ใช่แค่วัยทำงานเท่านั้น เพราะในปัจจุบันเด็ก ๆ นักเรียน นักศึกษาก็เริ่มมีสัญญาณของอาการเหล่านี้มากขึ้น แต่ความรุนแรงของอาการนั้นจะแตกต่างกันไป วันนี้เรามีวิธีเช็กลิสต์ ว่าอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ของคุณ อยู่ในระดับไหน?
- ระยะที่ 1 อาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ
จุดเริ่มต้นของออฟฟิศซินโดรม มักเกิดขึ้นจากอาการเมื่อยล้าในช่วงเวลาทำงาน บางทีอาจมีอาการปวดตามอวัยวะต่าง ๆ ร่วมด้วย ซึ่งอาการปวดจะหายไป หลังจากพักร่างกายเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรืออาจหายไปเลย และอาจปวดอีกครั้ง ในช่วงเวลาดึกที่นอนพักผ่อนอยู่ อาการปวดเมื่อยอาจกินเวลาเป็นสัปดาห์หรือนานเป็นเดือน เป็น ๆ หาย ๆ อยู่อย่างนี้ - ระยะที่ 2 ปวดคงค้างต่อเนื่อง
ระยะต่อมาร่างกายจะเริ่มปวดร้าวมากขึ้น เนื่องจากอวัยวะส่งสัญญาณบาดเจ็บออกมา อีกทั้งเมื่อกดไปยังบริเวณที่ปวด อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงตามมา ประสิทธิภาพในการทำงานอาจลดลงตามลำดับ และในระยะนี้อาการจะยังคงค้างอยู่ไม่หายไปไหน แม้ในยามหลับ ตื่น หรือแม้กระทั่งนั่งทำงาน - ระยะที่ 3 ปวดจนไม่สามารถนอนได้
นี่เป็นสัญญาณสุดท้ายที่ร่างกายฟ้องว่า ออฟฟิศซินโดรมได้เข้ามาในชีวิตอย่างเต็มรูปแบบ เพราะอาการปวดจะขัดขวางและรบกวนการนอนไม่ให้เป็นไปอย่างราบรื่น และอาจมีอาการกระดูกทับเส้นประสาทร่วมด้วย อีกทั้งงานเบา ๆ ที่ทำอยู่โดยปกติ ก็ไม่สามารถทำได้อย่างคล่องตัวเหมือนเมื่อก่อน และอาการปวดครั้งนี้อาจยิงยาวไปเป็นปี จนส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวันในรูปแบบอื่น ๆ โดยระยะนี้ ถ้าเป็นแล้ว ขอให้รีบรักษาและปรับรูปแบบการทำงานให้ถูกต้องอย่างเร่งด่วนที่สุด
โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นอาการของผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อบริเวณคอ หลัง บ่า ไหล่ แขน หรือข้อมือ ยึดเกร็งและปวด โดยหากผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรมไม่ได้รับการรักษาเมื่อพบว่ามีความผิดปกติดังกล่าว ก็อาจทำให้อาการทรุดหนักลง ตลอดจนพัฒนากลายเป็นอาการปวดแบบเรื้อรัง ดังนั้นสำหรับคนทำงานออฟฟิศ การนั่งทำงานในท่าที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายจากการหดเกร็งเป็นเวลานาน
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา