LGBT+ ทำอย่างไรให้ลดความเสี่ยงต่อโรค
บทความสุขภาพ
22 มิ.ย. 2566
ครั้ง
LGBT+ ทำอย่างไรให้ลดความเสี่ยงต่อโรค
การมีเพศสัมพันธ์ อย่างไม่ใส่ใจป้องกันหรือไม่รู้ทันโรคภัยไข้เจ็บ นำมาซึ่งความเสี่ยงทางสุขภาพของคุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่นิยมมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเป็นโรคร้ายต่าง ๆ
- โรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ มีอะไรบ้าง ?
โรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ของกลุ่ม LGBT+ เหมือนกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั่วไประหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ตั้งแต่การติดเชื้อเอชไอวี โรคซิฟิลิสและหนองใน ในปัจจุบันมีเชื้อโรคใหม่ ๆ บางชนิด เช่น ไวรัสเอชพีวี ที่สมัยก่อนทราบเพียงว่าทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ แต่ปัจจุบันเราพบว่าเชื้อโรคนี้ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ เช่น มะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงและมะเร็งปากทวารหนักในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก - ‘โรคมะเร็งปากทวารหนัก’ อาการเป็นอย่างไร ?
เริ่มจากการมีติ่งหรือก้อนที่ทวารหนัก บางรายอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด เจ็บก้น ซึ่งอาการใกล้เคียงกับริดสีดวง ดังนั้นหากพบติ่งหรือก้อนที่ทวารหนัก ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียดมากขึ้น - ‘โรคมะเร็งปากทวารหนัก’ พบได้บ่อยหรือไม่ ?
โดยทั่วไปพบไม่เกิน 3% ของมะเร็งที่เกิดขึ้นกับคนๆหนึ่ง แต่ในกลุ่มคนที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักร่วมกับมีเชื้อเอชไอวี (HIV positive) จะทำให้อัตราเพิ่มขึ้นไปอีกถึง 30 เท่า ? - ‘โรคมะเร็งปากทวารหนัก’ มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง ?
ฉายแสงและให้เคมีบำบัด
เป็นเครื่องมือมาตรฐานและเป็นเครื่องมือแรกในการรักษา ประมาณ 70-80% ของผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาหรือมะเร็งหายไปโดยไม่ต้องผ่าตัด
การผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการฉายแสงและเคมีบำบัดได้ไม่เต็มที่หรือไม่ตอบสนองเลย วิธีการผ่าตัดขึ้นอยู่กับรอยโรคที่เหลืออยู่ ถ้าเหลืออยู่พอสมควร อาจจำเป็นต้องผ่าตัดรูทวารหนักทิ้งไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยต้องมีทวารเทียมที่หน้าท้อง แต่หากรอยโรคเหลือไม่มาก แพทย์สามารถตัดรอยโรคที่เหลืออยู่และเก็บรูทวารหนักไว้ได้
วิธีลดความความเสี่ยงต่อโรคสำหรับชาว LGBT+
- สวมถุงยางอนามัย เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ชัดเจนที่สุด
- ฉีดวัคซีน HPV หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกซึ่งสามารถป้องกันมะเร็งปากทวารหนักได้ แนะนำให้ฉีดทั้งผู้หญิงและผู้ชายตั้งแต่อายุ 11 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 45 ปี
- รักษาการติดเชื้อเอชไอวี สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมไม่ให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นโรคเอดส์
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากทวารหนัก โดยใช้วิธีการใกล้เคียวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือที่เรียกว่า pap smear โดยควรตรวจซ้ำทุก ๆ ปี หากพบความผิดปกติ แพทย์จะตรวจเพิ่มเติม
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา