การตรวจสุขภาพประจำปีมีความจำเป็นอย่างไร?
บทความสุขภาพ
การตรวจสุขภาพประจำปีมีความจำเป็นอย่างไร?
การตรวจสุขภาพประจำปี อาจถูกหลายคนมองข้าม เพราะคิดว่าร่างกายมีความแข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปีนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรค หรือภาวะต่าง ๆ ที่ยังไม่แสดงอาการออกมา เพื่อเตรียมการรับมือในการรักษาแต่เนิ่น ๆ อีกทั้งยังช่วยลดความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกด้วย โรงพยาบาลพิษณุโลก ฮอสพิทอล ขอเป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพดีของคุณ HealthyTogether จับมือไว้แล้วสุขภาพดีไปด้วยกัน
3 เหตุผลสำคัญ ว่าทำไมเราควรตรวจสุขภาพประจำปี?
- เพื่อป้องกันหรือค้นหาโรคและภาวะผิดปกติในร่างกาย ซึ่งโรคบางโรค สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนแสดงอาการ
- เป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้กับโรคร้ายที่ดีที่สุด เพราะการตรวจสุขภาพประจำปีนอกจากจะช่วยให้เราตรวจพบโรคก่อนที่จะแสดงอาการหรือลุกลามนั้น ยังช่วยให้เราวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ทั้งยังช่วยให้เราวางแผนในการดูแลตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อีกด้วย
- ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วย และอัตราการเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี
การตรวจสุขภาพเบื้องต้นมีอะไรบ้าง ?
การตรวจสุขภาพประจำปี ทำได้ทั้งแต่การตรวจร่างกาย อวัยวะสำคัญ ๆ ทั่วไป รวมไปถึงการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูว่ามีความผิดปกติอื่นใดเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันมากมาย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการตรวจทั่วๆ ไป ดังนี้
- ตรวจวัดความดันโลหิต ชีพจร
- ตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทาง
- ตรวจหาดัชนีมวลกาย
- ตรวจความผิดปกติของเม็ดเลือด
- ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด เพื่อดูความเสี่ยงโอกาสของการเกิดโรคหัวใจ
- ตรวจการทำงานของตับ-ไต
- ตรวจวัดมวลกระดูก และตรวจระดับกรดยูริคจากเลือด เพื่อตรวจหาโอกาสการเกิดโรคไขข้ออักเสบ
- ตรวจเอกซเรย์ปอด
การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง หากอดนอนจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติได้ โดยเฉพาะค่าความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย
- กรุณางดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ (สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย)
- กรุณางดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจมีผลต่อการตรวจบางอย่าง หากดื่มไปแล้ว ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลให้ทราบก่อนตรวจ
- หากกำลังรับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต สามารถรับประทานต่อได้ตามที่แพทย์แนะนำ
- หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่นๆ กรุณานำผลการตรวจหรือรายงานจากแพทย์มาเพื่อประกอบการวินิจฉัย
- สำหรับสุภาพสตรี ไม่ควรอยู่ในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน หากมีประจำเดือนให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะ มีผลต่อการแปลผลการตรวจ
- การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) หลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งเต้านมมีความคัดตึง ควรตรวจหลังจากมีประจำเดือน
การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จึงมีความจำเป็น และความสำคัญ เพราะจะทำให้ได้รู้ว่าร่างกายของตัวเองมีโรคใดที่ซ่อนอยู่หรือไม่ หากตรวจพบความผิดปกติจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้การตรวจสุขภาพยังจะได้ คำแนะนำของการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลอีกด้วย
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา