"มาลาเรีย" เรื่องใหญ่จากยุงตัวเล็ก
บทความสุขภาพ
24 เม.ย. 2568
ครั้ง
"มาลาเรีย" เรื่องใหญ่จากยุงตัวเล็ก
ยุงเป็นแมลงขนาดเล็กที่หลายคนมองข้าม แต่รู้หรือไม่ว่า แม้จะตัวเล็กแต่ยุงเป็นพาหะนำโรคอันตรายหลายชนิด และเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ โรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจาก ปรสิตพลาสโมเดียม (Plasmodium) และแพร่กระจายผ่านการถูกยุงก้นปล่องกัด ซึ่งพบมากในพื้นที่ป่าชื้นและเขตร้อนของประเทศไทย แม้ว่าโรคนี้จะสามารถรักษาได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกัน
หลังจากถูกยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัด อาการจะเริ่มปรากฏภายใน 7-30 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่ได้รับ ได้แก่ :
- ไข้สูงเป็นระยะ ๆ คล้ายไข้หวัดใหญ่
- หนาวสั่น เหงื่อออกมาก
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- หากอาการรุนแรง อาจมีภาวะซีด ตัวเหลือง และไตวาย

การป้องกันโรคมาลาเรีย
แม้โรคมาลาเรียจะพบได้บ่อยในบางพื้นที่ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะบริเวณป่าเขาที่มียุงก้นปล่องชุกชุม
- ใช้มุ้งกันยุงหรือทายากันยุง โดยเฉพาะช่วงพลบค่ำถึงเช้ามืด
- ใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกาย ลดโอกาสถูกยุงกัด
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แหล่งน้ำขังใกล้บ้าน
- ฉีดพ่นยากันยุงในที่พัก เพื่อป้องกันยุงเข้ามาในบ้าน

การรักษาโรคมาลาเรีย
หากสงสัยว่าติดเชื้อมาลาเรีย ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเลือดและวินิจฉัย โดยแพทย์จะให้ยา ต้านมาลาเรีย ตามชนิดของเชื้อที่พบ ซึ่งการรักษาเร็วจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ หากมีไข้สูงและเพิ่งเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงมา อย่าชะล่าใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียทันที

โรคมาลาเรียแม้จะเป็นโรคที่ดูน่ากลัว แต่ก็เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยตนเอง ดังนั้นการรู้จักและมีข้อมูลสำหรับโรคนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุก ๆ คนควรที่จะรู้ไว้ เพื่อป้องกันและสังเกตตนเอง เพราะ โรคมาลาเรีย รู้ก่อน ป้องกันได้

ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา
![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() |