รู้หรือไม่? ตัวเลขใน “ผลตรวจสุขภาพประจำปี” บอกอะไรได้บ้าง?
บทความสุขภาพ
รู้หรือไม่? ตัวเลขใน “ผลตรวจสุขภาพประจำปี” บอกอะไรได้บ้าง?
คนส่วนใหญ่เชื่อว่า สุขภาพดี คือการไม่มีโรคประจำตัว ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ซึ่งนั่นเป็นการสังเกตหรือประเมินในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะคนที่เราเข้าใจว่าสุขภาพดีและใช้ชีวิตปกติ อาจมีสัญญาณเตือนการเกิดโรคในอนาคตแอบแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะไม่เคยตรวจเช็กสุขภาพ ซึ่ง การตรวจสุขภาพประจำปี ถือเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาพที่จะทำให้เราไม่ประมาท วันนี้เรามีข้อมูลว่า ตัวเลขใน “ผลตรวจสุขภาพประจำปี” บอกอะไรได้บ้าง?
- ค่าน้ำตาลในเลือด : เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน ซึ่งค่าปกติของระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 70-99 mg/dl หากมีระดับน้ำตาลตั้งแต่ 100 – 125 mg/dl ถือว่ามีความเสี่ยงหรือมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวาน และหากมากกว่า 126 mg/dl ถือว่าเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานระยะเริ่มต้น
- ค่าไขมันในเลือด :
> คอเลสเตอรอล เป็นระดับไขมันรวมในกระแสเลือด กรณีพบภาวะไขมันในเลือดสูงกว่า 200 mg/dl สามารถทำให้หลอดเลือดแข็ง ตีบ และอุดตัน เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้
> ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) หากตรวจพบไตรกลีเซอไรด์มีค่าสูงกว่า 150 mg/dl ถือว่ามีความเสี่ยงโรคไขมันอุดตันและหลอดเลือดแข็งตัว ตับอ่อนอักเสบ
> ไขมันเอชดีแอล HDL เป็นไขมันดี มีหน้าที่จับไขมันตามผนังหลอดเลือดเพื่อนำไปทำลายที่ตับ หากมีระดับ HDL สูงจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งระดับ HDL ในหลอดเลือดไม่ควรต่ำกว่า 40 mg/dl ในเพศชาย และ 50 mg/dl ในเพศหญิง ระดับที่ดีควรมากกว่า 60 mg/dl
> ไขมันแอลดีแอล LDL หรือไขมันตัวร้าย หากมีปริมาณมาก จะเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดตีบตันตามอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจและสมอง ดังนั้นจึงไม่ควรมีระดับ LDL สูงเกินกว่า 130 mg/dl - การทำงานของตับ : เป็นการตรวจหาเอ็นไซม์ของตับเพื่อดูว่าตับมีการทำงานปกติอยู่หรือไม่ โดยดูได้จากค่า SGOT และ SGPT ซึ่งค่าปกติคือประมาณ 40 U/L นอกจากนี้ยังมีการตรวจเอนไซม์ในเซลล์เยื่อบุท่อน้ำดีของตับ (Alkaline Phos) เป็นการหาการอุดตันของตับ ถ้ามีค่ามากกว่า 280 อาจจะมีความเสี่ยงภาวะตับแข็ง หรือมีนิ่วในถุงน้ำดี หรือเป็นมะเร็งในตับก็ได้
- การทำงานของไต : เป็นการวัดระดับปริมาณของเสียในร่างกายที่ร่างกายจะสามารถขับออกไปได้ ซึ่งค่าปกติของการทำงานของไตคือ 5-20 หากคุณตรวจวัดได้ค่าที่มากกว่านี้ คุณอาจจะกำลังมีภาวะไตเสื่อม
การตรวจสุขภาพ คือ แนวคิดการป้องกันก่อนการเกิดโรค อาจตรวจพบความเสี่ยงโรคหรือค้นพบโรคในระยะเริ่มต้น กรณีพบผลผิดปกติที่บ่งบอกการเริ่มต้นของโรค แพทย์อาจสั่งยา หรือมีคำแนะนำอื่นๆ เพิ่มเติมเฉพาะโรค เช่น การปรับพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงอาจส่งต่อเพื่อรับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์คือหัวใจสำคัญ ผู้เข้าตรวจสุขภาพไม่ควรละเลยคำแนะนำของแพทย์ เพราะอยากให้ทุกคนสุขภาพดี #Healthytogether จับมือไว้…แล้วสุขภาพดีไปด้วยกัน
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา