ทำไมต้องดูแลเจ้าตัวน้อยตั้งแต่ให้ครรภ์ ?

บทความสุขภาพ

17 ม.ค. 2566
ครั้ง
ทำไมต้องดูแลเจ้าตัวน้อยตั้งแต่ให้ครรภ์ ?

      หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทราบข่าวดีว่าตั้งครรภ์แล้ว ภาระกิจต่อไปที่จำเป็นต้องทำก็คือ ไปฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยของหัวใจดวงเล็ก ๆ ในครรภ์

การฝากครรภ์ คืออะไร?

      การฝากครรภ์ คือการดูแลการตั้งครรภ์ของสตรีและทารกในครรภ์ ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งการให้ความรู้และคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ โดยมีการนัดตรวจติดตามสุขภาตลอดระยะการตั้งครรภ์

ทำไมต้องฝากครรภ์?

      จุดมุ่งหมายในการฝากครรภ์นั้น เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่และทารกใน ครรภ์ยังคงมีสุขภาพดี แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์ หากมีปัญหาหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างนั้น คุณแม่จะได้รีบปรึกษาคุณหมอและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

หญิงมีครรภ์ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนด้านโภชนาการ การใช้ยาต่าง ๆ เพศสัมพันธ์ การเตรียมตัวสำหรับการคลอด และการให้นมบุตร รวมทั้งการวางแผนครอบครัวหลังจากคลอดบุตรแล้ว นอกจากนั้นยังต้องรู้จักสังเกตความผิดปกติของการตั้งครรภ์และอาการเจ็บครรภ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หญิงมีครรภ์จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือพยาบาลเมื่อมาฝากครรภ์


เมื่อมีการตั้งครรภ์ต้องมีการตรวจอะไรบ้าง?

  • การตรวจปัสสาวะเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์และดูความผิดปกติของภาวะไตหรือครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclampsia)
  • การตรวจดูความเข้มข้นเลือด ดูภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่จะกระทบต่อเด็กในครรภ์ได้
  • การตรวจอัลตร้าซาวนด์ เพื่อดูอายุครรภ์ ดูความผิดปกติของทารก เช่น ความพิการต่าง ๆ การเต้นของหัวใจเพื่อประเมินว่าเด็กมีชีวิตหรือไม่

พัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นอย่างไร?

      ระยะเวลา 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มดลูกจะอยู่ในอุ้งเชิงกราน อายุครรภ์ครบ 5 เดือน ยอดมดลูกอยู่ที่ระดับสะดือ และอยู่เกือบถึงลิ้นปี่เมื่อครรภ์ครบกำหนด น้ำหนักของแม่ใน 3 เดือนแรก จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะเมื่อมีครรภ์มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและรับประทานอาหารได้น้อย หลังจากนั้นน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม โดยตลอดการตั้งครรภ์น้ำหนักของแม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 กิโลกรัม ทั้งนี้เป็นส่วนของเด็ก รก และน้ำคร่ำประมาณ 5 กิโลกรัม เป็นส่วนของมดลูกและส่วนอื่นของแม่อีก 7 กิโลกรัม


ข้อดีของการฝากครรภ์

  • เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่ให้สมบูรณ์แข็งแรงที่สุด เพราะแพทย์จะให้คำแนะนำและตอบคำถามข้อควรปฏิบัติในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การปฏิบัติตน เป็นต้น
  • เพื่อตรวจสอบดูว่าการตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างปกติหรือไม่ แพทย์จะช่วยวินิจฉัยโรคบางอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคโลหิตจาง ซิฟิลิส รกเกาะต่ำ ทารกโตช้าในครรภ์ น้ำคร่ำน้อย ฯลฯ ถ้าผิดปกติจะได้ป้องกันแก้ไขได้ทันท่วงที
  • ช่วยป้องกันหรือลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นปกติและคลอดลูกได้ตามปกติมากที่สุด ถ้ามีโรคแทรกซ้อนหมอก็จะช่วยให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด ติดเชื้อน้อยที่สุด หรือเสียเลือดน้อยที่สุด เป็นต้น
  • ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ เพราะการฝากครรภ์นั้นสามารถช่วยลดอัตราการแท้งบุตร การคลอดลูกก่อนกำหนด ลูกเสียชีวิตในท้อง หรือคลอดลูกแล้วเสียชีวิตได้มาก และยังช่วยป้องกันการอักเสบติดเชื้อในตัวลูกน้อยได้อีกด้วย
  • ช่วยดูแลทารกในครรภ์ ทำให้ลูกน้อยในครรภ์เติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

สิ่งที่หญิงมีครรภ์ควรสังเกตและต้องระวัง!

  • ก่อนใช้ยาทุกประเภท ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
  • บุหรี่และแอลกอฮอล์ ทำให้ทารกมีน้ำหนักน้อย
  • ถ้าทารกดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้นต้องรีบไปพบแพทย์
  • การบวมทั้งตัว มักแสดงถึงพยาธิสภาพของไตหรือภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • น้ำเดิน เกิดจากการที่ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตก ซึ่งควรจะมีลักษณะเป็นน้ำใสๆ ไม่ใช่มูก
  • อาการเลือดออกเล็กน้อย โดยเฉพาะที่มีมูกเลือดปน

      ในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ บางคนจะมีอาการเจ็บครรภ์เพราะมดลูกรัดตัวแต่ไม่สม่ำเสมอ และอาการปวดมักจะอยู่บริเวณท้องน้อยหรือขาหนีบ อาการเจ็บครรภ์แบบนี้เรียกว่า “เจ็บเตือน” ซึ่งจะหายไปเมื่อได้หลับพักผ่อน แต่ถ้าอาการเจ็บเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ควรรีบไปโรงพยาบาล

      สนใจรับบริการคลอดและทำหมัน คลิก! https://www.phitsanulok-hospital.com/th/packages/caesarean-section-and-sterilization
3.17012023 ทำไมต้องดูแลเจ้าตัวน้อยตั้งแต่ให้ครรภ์ __.png

ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา

iConsFacebook.png iConsInstagram.png iConsLine.png iConsTwitter.png iConsYouTube.png